วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

โทษของโทรศัพท์มือถือ








นอกเหนือไปจากอวัยวะครบ 32 ประการในร่างกายคนเราแล้ว ปัจจุบันดูเหมือนว่า “โทรศัพท์มือถือ" กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของคนยุคโลกาภิวัตน์ ที่จะขาดเสียมิได้ เพียงแต่ว่าอวัยวะส่วนนี้ โดยมากจะเริ่มงอกเงยขึ้นมาในช่วงที่เป็น “วัยรุ่น” แต่ก็มีบ้างบางคนที่มี “มือถือ” ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เพราะพ่อแม่มีวิตามินเอ็ม (Money) ที่จะเสริมให้แต่เยาววัย




ข้อดีของโทรศัพท์มือถือ มีอยู่ไม่น้อย อาทิ ทำให้เราสามารถสื่อสารถึงกัน และกันได้ตลอดเวลา และแทบทุกสถานที่ (ที่สัญญาณไปถึง) ทำให้เราตามหาเพื่อนเจอในศูนย์การค้า หรือโทรเรียกช่าง /บริษัทประกันมาได้ทันท่วงที เมื่อรถเสีย รถชนบนทางด่วน หรือในบางสถานที่ที่ไม่มีโทรศัพท์สาธารณะ ฯลฯ อย่างไรก็ดี สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นก็มักมีโทษมหันต์ด้วย หากผู้ใช้ นำไปใช้ในทางที่ผิด หรือใช้ไม่เป็น โทรศัพท์มือถือก็เช่นเดียวกัน




โทษของโทรศัพท์มือถือ ได้ก่อให้เกิดโรคใหม่ๆ หลายประการ ดังที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้ลองนำเสนอมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านเล่นๆ ดู ดังนี้




- โรคเห่อตามแฟชั่น ในสมัยก่อน การจะมีโทรศัพท์สักเครื่องเป็นเรื่องที่ขอยากขอเย็น กว่าจะขอคู่สายมาติดตั้งที่บ้านได้บางทีต้องรอเป็นปีๆ ดังนั้น ผู้มีโทรศัพท์ใช้แรกๆ จึงมักเป็นพวกที่ทำธุรกิจ หรือพวกมีเงิน มีเส้นสาย ส่วนคนทั่วไปจะใช้หรือจะขอมีโทรศัพท์มักจะต้องมีงาน มีเรื่องจำเป็นหรือเร่งด่วนจริงๆ จนเมื่อมือถือได้กำเนิดขึ้นมาในระยะแรกๆ ผู้ใช้ก็ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ อยู่ โดยเฉพาะนักธุรกิจที่จำเป็นต้องติดต่องาน ต่อมาเมื่อธุรกิจมือถือ ได้กลายเป็นแหล่งทำเงิน ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมหาศาล การแข่งขันจึงมีมากขึ้น ก่อให้เกิดการขยายตัว จากผู้ซื้อกลุ่มนักธุรกิจ และผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ไปสู่ตลาดคนชั้นกลาง คนวัยทำงาน แม่ค้า ประชาชน และกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้น




และนี่เองจึงเป็นเหตุให้มีการพัฒนาเทคนิค และออกแบบมือถือเป็นแฟชั่นรุ่นใหม่ๆ มาดึงดูดใจลูกค้าตลอดเวลา และทำให้หลายๆ คนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้ทำงานด้านเทคโนโลยี เศรษฐี ตลอดจนนักธุรกิจระดับต่างๆ นิยมเปลี่ยนมือถือไปตามแฟชั่นเพื่อให้อินเทรนด์ ดูทันสมัย ไม่ตกรุ่น เทียมหน้าเทียมตาเพื่อนฝูง และบ้างก็เปลี่ยนเพื่อให้ดูเป็นคนมีระดับ มีฐานะ ทั้งที่ฟั่งชั่นหรือประโยชน์ที่เสริมขึ้นมาของแต่ละแบบ บางคนแทบจะไม่ได้ใช้เพิ่มเติม จากเดิมเลยก็ตาม ดังนั้น มือถือจึงได้กลายเป็นเครื่องประดับ ที่บ่งบอกสถานภาพอีกทางหนึ่ง




- โรคทรัพย์จาง จากการเห่อตามแฟชั่น อย่างที่กล่าวข้างต้น ทำให้หลายคนต้องหาเงินเพิ่ม เพื่อหาซื้อมือถือรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากมีเงิน หรือหาเงินได้คล่อง ก็ยังไม่เดือดร้อนเท่าไร แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เงินไม่ดี แต่มีรสนิยมดีเกินฐานะ จึงเกิดสภาวะทรัพย์จาง ต้องหาดิ้นรนหาเงินเพิ่ม หรือไปกู้หนี้ยืมสินมาซื้อมือถือ ที่ตัวอยากได้ ซึ่งโรคเห่อตามแฟชั่นส่วนใหญ่มั กจะเกิดกับเด็กวัยรุ่น วัยเรียน




แล้วมีผลข้างเคียง ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดโรคทรัพย์จางตามมา เพราะต้องหาเงินไปซื้อหาให้ลูก กลัวลูกน้อยหน้าเพื่อน หรือสงสารลูก หรือทนลูกออดอ้อนวอนขอไม่ได้ นอกจากแฟชั่นรุ่นใหม่ๆ จะทำให้เกิดโรคทรัพย์จางแล้ว ความถี่ของการใช้มือถือ ที่แสนจะสะดวกสบาย ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ยังทำให้หลายๆ คน โดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่ มีบัญชีรายจ่ายในเรื่องนี้เดือนๆ หนึ่งจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งคนไหนที่กำลังมี หรือกำลังติด “กิ๊ก” จำนวนการใช้ก็ยิ่งมีมากขึ้น แม้จะมีโปรโมชั่นลดแลก แจกแถมต่างๆ มากมายก็ตาม หากไม่รู้จักควบคุมการใช้ให้ดี แนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้ก็มีสูงขึ้น




- โรคขาดความอดทน และใจร้อน แม้ว่าข้อดีของโทรศัพท์มือถือ จะทำให้เราสื่อสารได้รวดเร็วทันใจ แต่ข้อนี้ก็เป็นข้อเสียที่ทำให้คนเราขาดความอดทน และใจร้อนขึ้นเช่นกัน เพราะความสะดวกสบาย ในการใช้โทรศัพท์มือถือ ที่ว่าตรงไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ กดปุ๊บ ติดปั๊บนี่เอง ทำให้หลายๆ คนกลายเป็นคนที่ทนรอใครนานไม่ได้ หรือไม่ยอมทนแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ อีกต่อไป




เช่น นัดเพื่อนไว้ และเพื่อนมาช้าแค่ 5 นาที ก็ต้องโทรตามจิกตามล่าแล้ว คิดอะไรไม่ออก แทนที่จะค่อยๆ ใช้สมองครุ่นคิดทบทวนเอง ก็จะรีบโทรเพื่อน หาคนถามทันที หากไม่ติด ไม่เจอ ก็จะกดโทรอยู่นั่น เพราะต้องการติดต่อให้ได้เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนั้น ทำให้กลายเป็นคนเร่งรีบ ร้อนรน และไม่รอบคอบ เพราะไม่ทันได้ใช้ความคิด หรือขี้เกียจใช้ความคิดอีกต่อไป




- โรคขาดกาลเทศะ และมารยาท จากการที่เราไม่ค่อยอดทนรอ และใจร้อนที่ว่านี่เอง ทำให้หลายๆ ครั้ง เมื่อนึกอะไรขึ้นมาได้ ก็จะกดโทรศัพท์ไปหาบุคคลที่เราอยากจะพูด อยากถามในทันที ซึ่งบางครั้ง อาจจะเป็นเวลาประชุม เวลานอน เวลารับประทานอาหาร เวลาพักผ่อน หรือเป็นวันหยุด วันที่เขากำลังใช้เวลาอยู่กับครอบครัว การโทรไปเช่นนั้น โดยไม่ดูเวลาหรือกาลเทศะที่ควรโทร แม้เขาจะบอกว่าไปเป็นไร แต่จริงๆ แล้วเขาก็อาจจะไม่พอใจ หรือโกรธที่เราไปขัดจังหวะการกิน การนอน การพักผ่อน ฯลฯ ของเขาอยู่ก็ได้




หรือบางคนไม่รู้จักมักจี่กับเจ้าของเบอร์ แต่ได้เบอร์โทรมาจากคนอื่น แล้วโทรเข้ามือถือ หรือนำเบอร์มือถือของคนหนึ่ง ไปบอกคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ทราบ หรือไม่อนุญาต ก็เป็นเรื่องไม่ควร ขาดมารยาทที่ดี เพราะบางคนได้เบอร์แล้วโทรไปขายประกัน ขายเครื่องกรองน้ำ เชิญชวนสมัครสมาชิกบัตรเครดิตฯลฯ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ทำให้ผู้รับสายเกิดความเดือดร้อน รำคาญใจ และที่เป็นสภาวการณ์ในปัจจุบันคือ การใช้มือถือโดยไม่เลือกเวลา และสถานที่ เช่น ในห้องประชุม โรงหนัง โรงมหรสพ บนรถ/เรือโดยสาร หรือในระหว่างพิธีการต่างๆ เป็นต้น เสียงโทรศัพท์มือถือมักจะดังขึ้น ทำให้รบกวนสมาธิของผู้อื่น แถมบางคนก็คุยเสียงดัง แบบไม่เกรงใจใคร จนคนร่วมทางต้องรับรู้ประวัติ การนัดหมาย หรือความคับข้องใจของผู้พูดขณะระบายความในใจไปด้วย




บางคนพูดๆ แล้ว ลืมตัวว่าอยู่ในที่สาธารณะ ก็มักใช้ภาษาไม่สุภาพ หรือพูดๆ แล้วเกิดอารมณ์โกรธ ก็ด่าว่าอีกฝ่ายทางโทรศัพท์ ซึ่งโดยมารยาททางสังคมนั้น ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ควรจะปิดมือถือ หรือเปลี่ยนระบบเป็นแบบสั่น เมื่ออยู่ในสถานที่ประชุม โรงหนัง ฯลฯ และไม่ควรพูดคุยด้วยเสียงอันดัง และไม่สุภาพเมื่อมีผู้อื่นอยู่ด้วย




- โรคไม่จริงใจ เนื่องจากการพูดคุยทางโทรศัพท์ ไม่ต้องเห็นหน้าตา ท่าทาง สายตาและปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ทำให้หลายคน สามารถใช้คำหวานหลอกลวง หรือพูดโกหกผู้อื่น หรือนิยมส่ง sms ไปยังอีกฝ่าย ทำเสมือนรักใคร่ ผูกพันหรือห่วงใย แต่ใจจริงมิได้คิดเช่นนั้น โดยอาจจะโทรไปหาคนหนึ่ง แต่ตัวไปกับอีกคน บางคนอาจจะคิดว่าโทรมา หรือ sms มาดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย แต่แท้จริงแล้ว การไม่จริงใจ และไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน อาจกลายเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องอื่นๆ ตามมาได้ เช่น เราอาจคิดว่าเขาดีกับเรา พอเขายืมเงิน ก็ให้ไป แล้วเขาก็ไม่คืน เราก็เกิดความเดือดร้อน เป็นต้น




นอกจากโรคดังกล่าวข้างต้นแล้ว โทรศัพท์มือถือ ยังมีผลข้างเคียงทำให้เสียสุขภาพในด้านอื่นๆ อีก เช่น ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เพราะมัวแต่คุยทั้งวันทั้งคืน เลยนอนดึก นอนไม่พอ ทำให้หูตึง หรือมีโรคเกี่ยวกับหู เกิดอาการปวดหัว ไมเกรนหรือมีปัญหาทางเส้นประสาท เพราะคลื่นจากมือถือที่มีกำลังส่งแรงสูง ทำให้เกิดพวกโรคจิตเพิ่มขึ้น คือพวกที่ชอบแอบถ่าย หรือบางคนก็ถ่ายภาพหวิว ของตัวเองไปลงตามอินเตอร์เน็ต เพราะทำได้ง่าย และสะดวกสบายขึ้น




หลายๆ ครั้งมือถือทำให้ขาดความระมัดระวัง ขับไปพูดไป จนทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน หรือชนคนอื่น นอกจากนี้ มือถือยังก่อให้เกิดอาชญากรรม ถูกคนร้ายติดตามมาทำร้ายร่างกาย หรือแย่งชิงทรัพย์ได้ง่ายอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ คือโรคร่วมสมัยที่มาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ ที่เราควรตระหนักและรู้จักฉลาดใช้ “โทรศัพท์มือถือ” ให้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อตัวเราทั้งด้านส่วนตัว การเรียน และหน้าที่การงาน ให้สมกับที่เป็นคนยุคใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น