วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การอุดฟัน




การอุดฟัน
ทพญ.บุรณี สมบัติพานิชงานทันตกรรม
การอุดฟันเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาฟันผุ วัตถุประสงค์ของการอุดฟัน เพื่อป้องกันมิให้ฟันผุลุกลามต่อไป เป็นการบูรณะฟันให้กลับมามีความสวยงามอีกครั้ง และสามารถที่จะทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพการอุดฟันจะพิจารณาจากสิ่งต่อไปนี้กรณีที่ทันตแพทย์จะสามารถทำการรักษาด้วยการอุดฟันให้กับผู้ป่วย มีข้อพิจารณาโดยทั่วไป คือ ฟันซี่ที่ผุจะต้องไม่ลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน และฟันจะต้องมีส่วนที่เหลือเพียงพอต่อการยึดของวัสดุที่ใช้ในการอุด นอกจากนี้ สภาพเหงือกบริเวณฟันซี่ที่จะอุดควรอยู่ในสภาพปกติ ซึ่งบางกรณีทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยขูดหินปูนก่อนที่จะทำการอุดฟัน
วิธีการอุดฟัน ทันตแพทย์จะกรอเนื้อฟันที่ผุซึ่งจะมีการติดเชื้อออก เนื้อฟันที่ผุจะมีลักษณะ นิ่ม ยุ่ย ส่วนสีของเนื้อฟันนั้นจะมีการเปลี่ยนสีหรือไม่เปลี่ยนสีก็ได้ และเมื่อทำการกรอเนื้อฟันส่วนที่ผุออกแล้ว ถ้าฟันผุลึกเข้าไปชั้นในของเนื้อฟัน ซึ่งเรียกว่า”ชั้นเนื้อฟัน” ทันตแพทย์จะทำการใส่วัสดุรองพื้น ซึ่งวัสดุดังกล่าวจะช่วยลดการเสียวฟัน เมื่อใส่วัสดุรองฟื้นแล้วทันตแพทย์จะทำการอุดฟันด้วยวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันต่อไป ซึ่งอาจจะใช้เวลามากหรือน้อยแตกต่างกันตามสภาพฟันของผู้ป่วย



วิธีบรรเทาความเจ็บปวดในการอุดฟัน ทันตแพทย์อาจใช้ยาชาในการอุดฟัน แต่มีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจฯลฯ ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมเป็นกรณีไปวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันแบ่งเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ 2 ชนิด คือ ชนิดแรก คือ วัสดุที่มีสีคล้ายฟัน ใช้ในการอุดฟันหน้า ซึ่งในปัจจุบันความต้องการความสวยงามของผู้ป่วยมีมากขึ้น จึงพัฒนาให้สามารถอุดฟันกรามหลังได้ในบางกรณี ตัวอย่างของวัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน คือ Composite Resin, Glass ionomer Cement ชนิดที่สอง คือ วัสดุที่มีสีคล้ายโลหะ ใช้ในการอุดฟันหลังบริเวณที่จะต้องรับแรงบดเคี้ยว ตัวอย่างของวัสดุประเภทนี้คือ Amalgam ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาประเภทของวัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน



ข้อปฏิบัติภายหลังการอุดฟัน สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการอุดฟันโดยวัสดุที่เรียกว่า Amalgam ไม่ควรเคี้ยวอาหารด้านที่อุดฟันเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ยังมีความแข็งแรงไม่เต็มที่ ฉะนั้นหลังจากอุดฟันแล้วจึงจะสามารถเคี้ยวอาหารด้านที่อุดฟันได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็ง จากนั้นควรกลับมาให้ทันตแพทย์ขัดแต่งวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันอีกครั้ง ส่วนผู้ป่วยที่อุดฟันหน้าไม่ควรใช้ฟันหน้าเคี้ยวอาหารที่แข็งเช่นกัน เพราะจะทำให้วัสดุที่อุดแตกได้ และการแตกของวัสดุอาจลุกลามไปถึงเนื้อฟันส่วนที่ดีได้ ส่วนในกรณีที่มีฟันผุลึกผู้ที่ได้รับการอุดฟัน อาจจะมีการเสียวฟันภายหลังการอุดฟัน จึงควรงดอาหารที่ร้อนจัดและเย็นจัด ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเสียวฟันจะลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์ ในกรณีที่หลังจากที่อุดฟันแล้ว 1 เดือนแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเสียวฟันอยู่ ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขต่อไป
ข้อแนะนำในการดูแลรักษาฟัน






การดูแลรักษาฟันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ผู้ป่วยควรจะแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันภายหลังการรับประทานอาหารทุกมื้อ นอกจากนี้ไม่ควรใช้ฟันเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งมาก ๆ
การครอบฟันแตกต่างจากการอุดฟันอย่างไร






โดยทั่วไปการครอบฟันจะพิจารณาจากกรณีที่ฟันผุ และมีส่วนของเนื้อฟันเหลือน้อยไม่เพียงพอต่อการยึดของวัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน ทันตแพทย์ก็จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วขั้นตอนของการครอบฟันจะคล้ายกับการอุดฟัน โดยจะทำการกรอเนื้อฟันในส่วนที่ผุออก แต่จะทำการกรอแต่งฟันรอบ ๆ เพิ่มเติม จากนั้นก็จะพิมพ์แบบและทำการส่ง lab เพื่อที่จะทำครอบฟันมายึดให้ผู้ป่วยในครั้งต่อไป



ข้อปฏิบัติภายหลังการครอบฟัน



1. หลีกเลี่ยงการใช้ครอบฟันเคี้ยวอาหารแข็ง หรือเหนียว



2. หากมีอาการเสียวฟัน หรือเจ็บฟัน ภายหลังการใส่ครอบฟันเกินกว่า 3 สัปดาห์ ให้กลับมาพบทันตแพทย์



3. หากครอบฟันหลุด หรือแตกหักให้กลับมาพบทันตแพทย์



4. ควรทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธี โดยเน้นบริเวณขอบเหงือก และให้ใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ



5. ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปากทุก 6 เดือนอ่านต่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น