วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

สงครามโลกครั้งที่ 2




สงครามโลกครั้งที่สอง





เป็นความขัดแย้งทางทหารในระดับโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งรัฐมหาอำนาจทั้งหมด ประเทศผู้ร่วมสงครามรวมตัวกันเป็นพันธมิตรทางทหารสองฝ่ายอันเป็นคู่ขัดแย้ง: ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ ระหว่างสงครามมีการระดมกำลังทหารมากกว่า 100 ล้านนาย ด้วยลักษณะของ "สงครามเบ็ดเสร็จ" ประเทศมหาอำนาจผู้ร่วมสงครามได้ทุ่มเทขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อการสงครามทั้งหมด โดยไม่แบ่งแยกทรัพยากรว่าเป็นของพลเรือนหรือทหาร ประมาณกันว่าสงครามมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยประการทั้งปวง สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด และนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 50 ถึงมากกว่า 70 ล้านคน



โดยทั่วไปมักถือเอาว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นหลังจากการรุกรานโปแลนด์ของเยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การประกาศสงครามต่อเยอรมนีของฝรั่งเศสและประเทศส่วนใหญ่ในจักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพแห่งชาติ ภายในหนึ่งปี เยอรมนีมีชัยเหนือยุโรปตะวันตกเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพที่ยังคงเป็นมหาอำนาจที่ต่อกรกับเยอรมนีทั้งบนเกาะบริเตนและการรบทางทะเลอย่างกว้างขวาง ใน ค.ศ. 1941 เยอรมนีได้ชัยชนะในพื้นที่คาบสมุทรบอลข่านและเกาะครีต รวมทั้งได้ส่งทหารไปช่วยอิตาลีในทวีปแอฟริกา ตลอดจนส่งทหารรุกรานสหภาพโซเวียต ซึ่งนับว่าเป็นยุทธบริเวณภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งกำลังทำสงครามกับจีนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1937 ด้วยความปรารถนาจะสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา จึงฉวยโอกาสโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และส่งทหารรุกรานหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางอย่างรวดเร็ว



การรุกคืบของฝ่ายอักษะยุติลงใน ค.ศ. 1942 หลังจากความพ่ายแพ้ในญี่ปุ่นในยุทธนาวีมิดเวย์และหลังจากความพ่ายแพ้มหาศาลของฝ่ายอักษะทวีปยุโรปในอียิปต์และสตาลินกราด ใน ค.ศ. 1943 จากความปราชัยของเยอรมนีที่เคิสก์ในยุโรปตะวันออก การรุกรานอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอดจนถึงชัยชนะของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทำลายการริเริ่มทางยุทธศาสตร์และส่งผลไปสู่การล่าถอยในทุกแนวรบ



ในปี ค.ศ. 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดแนวรบใหม่ในฝรั่งเศสได้ ซึ่งเมื่อประกอบกับการโจมตีกลับจากทางตะวันออกของสหภาพโซเวียตแล้ว ยิ่งทำให้เยอรมนีสูญเสียดินแดนยึดครองไปมากขึ้นอีก ในขณะเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาสามารถขับไล่ญี่ปุ่นออกจากฟิลิปปินส์และคุกคามที่จะรุกรานแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น สงครามในทวีปยุโรปยุติลงหลังการยึดครองเบอร์ลินโดยกองทัพโซเวียต และการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของเยอรมนีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 แม้จะโดดเดี่ยวและตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นยังคงปฏิเสธที่จะยอมจำนน จนกระทั่งมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูกถล่มญี่ปุ่น รวมทั้งการรุกรานแมนจูเรีย จึงได้นำไปสู่การยอมจำนนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945



สงครามยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร สหประชาชาติถูกสถาปนาขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต ในขณะที่สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตกลายเป็นอภิมหาอำนาจของโลก อันเป็นคู่ปรปักษ์กัน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งบนเวทีแห่งสงครามเย็น ซึ่งได้ดำเนินต่อมาอีก 46 ปีภายหลังสงคราม ในขณะเดียวกัน การยอมรับในหลักการของการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง เป็นตัวเร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ขณะที่หลายประเทศได้มุ่งหน้าสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจซึ่งอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายระหว่างสงคราม และบูรณาการทางการเมืองได้เกิดขึ้นทั่วโลกในความพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพอย่างสันติหลังสงคราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น