วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่านิยมเกาหลีในปัจจุบัน










ปัจจุบันนี้ใครต่อใครต่างรู้จัก “เกาหลี” ในหลากหลายมิติ จนก่อเกิดกระแส “เกาหลีฟีเวอร์”[1] ในปริมณฑลประเทศอื่นๆ กลายเป็นสายธารแห่งคลื่นทางวัฒนธรรมใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ จนได้รับขนานนามว่า “เอเชียภิวัฒน์” นอกเหนือจากวัฒนธรรม “ญี่ปุ่น” และ “จีน” ซึ่งได้แพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมในลักษณะกลิ่นไอความเป็นตะวันออกที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างออกไป วัฒนธรรมเกาหลีมิได้หมายถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่ถูกแช่แข็งทางวัฒนธรรม แต่หมายถึงโลกปัจปัจจุบันที่ประดิษฐ์วัฒนธรรม “ใหม่” ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน และยังมีสูตรแห่งการผสมผสานระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมได้เริ่มก่อตัวและเติบโตขึ้นซึ่งส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก[2] ด้วยเหตุดังกล่าว ผมในฐานะนักเรียนด้านสังคมวิทยาที่ให้ความสนใจการเปลี่ยนรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ของประเทศเกาหลี โดยให้ความสนใจถึงกระบวนการสร้างในเชิง “หน้าที่นิยม” และการตอบสนองกับสังคมที่แปรเปลี่ยนตามบริบท







มองเกาหลีในอดีต ผ่านผลงานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาพสะท้อนแห่งวัฒนธรรมเก่า สู่การนิยามใหม่ผ่านละครซีรี่ส์



เกาหลีมีประวัติศาสตร์มายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากจีนและผสมผสานกับวัฒนธรรมของตนเอง หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญคือเครื่องใช้สำริดที่มีความคล้ายคลึงกับจีนมากจนมาถึงในยุคเล่อลั่งซึ่งได้รับต้นแบบงานศิลปกรรมจากราชวงศ์ฮั่น แต่ในขณะเดียวกันเกาหลีก็ยังพัฒนาเครื่องใช้ อาทิ อศิราภรณ์มงกุฏ และชุดเครื่องทองรวมไปถึงยุทโธปกรณ์ในแบบ ต่างๆ ตามแบบ”เกาหลี” โดยสร้างลวดลายที่ปราณีตเชื่อมโยงกับระบบความเชื่อวัฒนธรรมและรสนิยมท้องถิ่นได้อย่างลงตัว ตรงจุดนี้ทำให้งานศิลปกรรมเกาหลีเกิดความแตกต่างไปจากวัฒนธรรมจีนและเป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ใหม่ ผ่านงานหัตศิลป์ ปราณีตศิลป์ ซึ่งจะโดดเด่นมากในยุคสามอาณาจักรอย่าง เพจเจ ซิลลา โกกุเรียว และอาณาจักรคายา(เป็นชนเผ่าทั้งหกที่รวมตัวกันและถูกกลืนกับอาณาจักรซิลลา) ซึ่งได้ถ่ายทอดผ่านซีรี่ส์ละครในเรื่อง “จูมง” ที่อธิบายเรื่องราวและรายละเอียดได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งการเปลี่ยนผ่านในการรวมอาณาจักรซิลลาและแคว้นอื่นๆผนวกเข้าด้วยกันขับไล่จีนในราชวงศ์สุยที่พยายามจะมามีอิทธิลในคาบสมุทรเกาหลี ยึดโยงความเป็นชาติพันธุ์อย่างแนบแน่นและสร้างความเป็นปึกแผ่นผ่านบูรณภาพทางการเมือง ภาพสะท้อนในซีรี่ส์เรื่องจูมงทำให้เห็นถึงความพยายามที่จะพัฒนาตนเองและปรับตัวเพื่อการธำรงชาติพันธ์ให้อยู่รอดและสร้างความเป็น “เกาหลี” ในแบบฉบับของตนเอง



พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในเกาหลีได้เปลี่ยนโครงสร้างทางวัฒนธรรมใหม่อยู่ตลอดทุกยุคทุกสมัยโดยสะท้อนการดัดแปลง ลัทธิขงจื่อในจีน สู่ความเป็น “ขงจื่อใหม่” ในเกาหลีผ่านระบบการปกครองในสมัยโชซอน และยังไม่ละทิ้งความเป็นเกาหลีที่นับถือภูติผีและวิณญาณตามระบบความเชื่อดั้งเดิม ในราชวงศ์โชซอนนั้นยังได้ปลูกฝังความรักชาติด้วยสติปัญญาของชนพื้นเมืองโดยการสร้างประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงกับปกรณัม ของ “ตันกุ๋น วัง ก็ออม”[3] และผลงานที่สำคัญของยุคโซซอนคือการประดิษฐ์อักษรเกาหลีในสมัยพระจ้าเซจองที่เรียกว่า “ฮังกึล”ซึ่งยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน







ซีรี่ส์เกาหลีในมิติใหม่ “ผสมผสาน” “ ดัดแปลง” และ “นิยามใหม่” ตามไสตล์ เกาหลี


ภาพละครในซีรีส์เกาหลี ได้หยิบยก ความเป็นสังคมเมือง ในโซล เป็นหลัก ที่ได้เปลี่ยนผ่านตนเองสู่ความเป็นสังคมวัฒนธรรมใหม่( modern society) ในหลายๆฉากสะท้อนถึงความวุ่นวายของการจราจร เมืองธุรกิจและการค้า ปฎิสัมพันธ์ของคนเมือง การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ แฟชั่น การกินอาหาร และการทำงานหนัก แต่ก็ไม่ละเลยที่จะทิ้งภาพต่างจังหวัด ความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นเพของบางตัวละครที่ต้องมาปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ตนเองในปริมณฑลเมือง แต่ก็มีการโหยหาอดีต และมีระเบียบวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย ซึ่งปรากฏให้เห็นใน หลายๆเรื่อง ได้นำฉากโดยนำเสนอภาพอดีตของเกาหลีในอาณาจักรโชชอนโดยการย้อนอดีตชาติมาเสริมสร้างในเนื้อหาของ เรื่อง สะท้อนแบบแผนการปกครองในสมัยโชซอน ซึ่งมาประกอบสร้างในลักษณะที่ขบขันแต่กลับได้สาระที่ถูกผสมอยู่ในเนื้อหาที่นำเสนออีกด้วย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของปรากฏภาพวัฒนธรรมในอดีตที่นำมาเสนอในเรื่องราวปัจจุบัน อาทิ การไปท่องเที่ยวในพระราชวังโบราณ เห็นภาพจำลองของขุนนางในราชสำนัก รวมถึงนางกำนัล (ซัมกุง) การแต่งกาย ขนบประเพณีโบราณ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต เข้าไปใส่ในละครได้อย่างชาญฉลาด นั่นก็คือ เอาเรื่อง “โบราณ” มาประกอบในฉากในยุคสมัยใหม่ มีความกลมกลืนและยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณะชน



วัฒนธรรม “ใหม่” ในไสตล์ เกาหลี กับความเป็นเมือง ที่มุ่งเน้นถึง สังคมแห่งการทำงานในยุคทุนนิยม การแข่งขันกันในอาชีพ ความชิงไหวชิงพริบในทางธุรกิจ และการเสพเทคโนโลยีและแฟชั่นแบบวัฒนธรรม บริโภคนิยม ซึ่งการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกาหลีสร้างขึ้นเอง และยังสร้างแฟชั่นเกาหลี[4]ที่มีลักษณะเฉพาะตัวและเขยิบพื้นที่ให้มีความเป็นสากลในรูปลักษณ์ใหม่ผ่านเครื่องแต่งกายของตัวละครทั้งในเพศหญิง และชาย เอกลักษณ์ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งในละครซีรี่ส์เกาหลีก็คือ “การนัดเดท” เป็นการนัดดูตัวและพบปะกันเพื่อสานสัมพันธ์สู่การเป็นคู่ครองในอนาคตยิ่งสะท้อนสังคมเกาหลีสมัยใหม่ที่ทำงานจนไม่มีเวลาพบปะผู้คน



ตัวละครเกาหลีให้ความสำคัญกับการทำงานซึ่งเป็นหลักที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อ จนเป็นค่านิยมที่สำคัญในสังคม ในขณะที่ละครไทยมักจะไม่เน้นสิ่งเหล่านี้มากนัก แต่กลับอาศัยการได้งานมาที่เรียกว่า “ส้มหล่น” หรือ ตัวละครไม่ต้องทำงานเพราะไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องนอกเหนือจากการลอยชายไปมา แต่เกาหลีจะต้องต่อสู่กับงานมากมายกว่าจะเป็นที่ยอมรับในสังคม ต้องใช้ความขยันและเวลาพิสูจน์เพื่อพิสูจน์ตนเอง



แม้ว่าละครเกาหลีมักจะมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรม “บริโภคนิยม” แต่ผมกลับมองว่าในประเด็นนี้กับมีความน่าสนใจคือ กระบวนการดังกล่าวไม่ได้ถูกอิทธิพลทางตะวันตกครอบงำ แต่กลับสร้างลักษณะใหม่ที่ผู้คนสามารถจำแนกได้ว่าแตกต่างกับตะวันตก และมีเอกลักษณ์ของความเป็นเกาหลี หากจะกล่าวถึงการแต่งกายแบบตะวันตกเราคงมองถึงการกางเกงส์ยีน เสื้อสบายๆ หรือสูตร แต่ความเป็นเกาหลีเน้นการใส่สูตรที่มีลักษณะกึ่งทางการ แตกต่างกับสูตรแบบตะวันตก ผู้หญิงแต่งกายในลักษณะกึ่งลำลอง กึ่งทางการ หรือหรูหรา แล้วแต่โอกาส แสดงถึงการให้ความสำคัญกับกาละเทศะของการใช้การแต่งกายเพื่อแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพื้นที่ต่างๆ สิ่งนี้ผมขอเรียกว่า กระบวนการสร้าง “รสนิยมการแต่งกาย”แบบเกาหลี และพี่ไทยยังเอามาลอกเลียนแบบไม่อายด้วยครับ แสดงว่าพี่ไทยยังคิดว่า “ดูดี” มีความเป็นสากล จนต้องทำตาม



วิถีชีวิตในกรุง โซล อาจดูมีความเป็นตะวันตก และมีความเป็นเมืองสูง ได้ถูกเปลี่ยนแปลงตามแบบอย่างสังคมสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็น เกาหลีแบบเก่า ที่นำมาผสมผสานได้อย่างลงตัว แม่ว่าจะเป็นมุมเล็กๆอย่างวิถีวัฒนธรรมการกินของตัวละครซึ่งนิยมเข้าร้านอาหารต่างชาติ แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นความเป็นเกาหลี เพราะยังชอบรับประทานกิมจิ ซุป หรือร้านนั่งดื่มไสตล์เกาหลี อยู่นั่นเองและดัดแปลงรสชาติอาหารต่างประเทศให้ตรงกับรสชาติให้ถูกปากกับคนเกาหลี ตรงจุดนี้เป็นการสร้างอุดมการณ์ความรักชาติที่สะท้อนผ่านซีรีส์ได้เป็นอย่างดี หากตัวละครไทยยังชอบรับประทานแกงเขียวหวานหรือต้มยำกุ้งที่สั่งในเมนูร้านอาหารก็คงจะดีไม่น้อย







เนื้อหาของละครไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีแล้วยังขาดความร่วมสมัยที่จะนำวัฒนธรรมมาผสานกัน และแบ่งแยกอย่างชัดเจน เช่นละครย้อนยุคก็จะเน้นความเก่าแก่ โบราณ ละครยุคสมัยใหม่ก็เต็มไปด้วยการครอบงำแบบ เก่า ที่นิยมความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้ผู้ชายมากดขี่ผู้หญิง ผ่านการข่มขืน ปล้ำ จูบ และนำมาสู่ความรัก ในขณะเดียวกันสังคมเกาหลีกลับใช้ความสวย ฉลาด บุคลิกในแบบเน้นความเป็นตนเองมาเป็นอำนาจดึงดูดผู้ชายให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจได้ ถึงแม้ว่า ผู้ชายเหล่านั้นจะสมบูรณ์แบบเพียงใด ก็ต้องเปลี่ยนใจมารักนางเอก เสน่ห์หนึ่งของตัวละครเกาหลีเน้นความสัมพันธ์แบบจุลภาค ให้ความสัมพันธ์กับตัวละครไม่กี่คน ทำให้เชื่อมโยงง่ายและเป็นเอกภาพ ผมคิดว่าวิธีนี้น่าจะทำให้เราเห็นรูปแบบวิถีชีวิตบบเกาหลี ผ่านตัวละครได้ลึกและชัดเจนขึ้น ซึ่งแตกต่างกับไทยที่ให้ความสัมพันธ์กับตัว ระดับมหภาค ความสัมพันธ์จึงดูคลุมเครือขาดการเชื่อมโยงสัมพันธ์ของตัวละครแบบชัดเจนจนดูแล้วไม่สามารถเข้าใจแบบตรรกะได้เพราะเนื้อหา ขาดเอกภาพ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นเหตุและปัจจัยของตัวละครได้อย่างเต็มที่



เคยมีคนสงสัยและถามผมว่า ทำไมละครเกาหลีถึงเน้นความสัมพันธ์แบบสี่คน? และมีความเกี่ยวพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ผมคิดว่าสิ่งที่ผมโยงน่าจะเป็นคำตอบได้ดี ผมคิดว่าคงเป็นเพราะการสร้างไสตล์ของตัวละครแบบนี้ทำให้คนทั่วไปทราบว่านี่คือ “ซีรี่ส์เกาหลี” นั่นเอง ที่สำคัญยังสามรถผลิตอุดมการณ์ทางความคิด แบบเข้าใจได้ง่ายซึมซับได้เร็วและสะเทือนอารมณ์อย่างถึงที่สุด



ละครเกาหลียังแฝงไปด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม เต็มไปด้วยการต่อสู้ ความเป็นปึกแผ่นและการธำรงรักษาประเทศผ่านละครย้อนยุค และยังสอนถึงค่านิยมแบบ ยึดหลักคุณธรรม ความพยายามซึ่งนำมาสู่ความสำเร็จ แม้แต่ละครในแบบสมัยใหม่ก็ยังนำเสนอเรื่องราวที่เน้นย้ำตรงจุดนี้ ทั้งการต่อสู้ในด้านการเรียน(กฏหมายรักฉบับฮ่ร์วาด) การต่อสู่กับแรงกดดันเพื่อเป็นที่ยอมรับในสังคม(ลุ๊กกี้ น้องใหม่เบอร์หนึ่ง หรืออินวินซิเบิ้ล) การต่อสู้เพื่อความรัก(หลายๆเรื่อง) และการเสียสละ เพื่อชาติบ้านเมือง(จูมง)เป็นหลัก ทำให้ผมไม่แปลกใจเลยว่า คนเกาหลีมีความเป็นชาตินิยมสูง





หากจะลองมองวัฒนธรรมเกาหลีเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมไทยแล้วผมคิดว่า บ้านเราพยายามจะแช่แข็งวัฒนธรรมในอดีตให้อยู่ในปัจจุบัน เลยลืมมองไปว่า วัฒนธรรมแบบ “ล้าสมัย” ใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่? ในยุคปัจจุบัน ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมเองย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และปรับตัวเพื่อตอบสนองสังคม การที่เราพยายามที่จะสร้างความเป็นไทย หรืออุดมการณ์แบบอนุรักษ์อดีต ต้องมองถึงความเป็นจริงทางสังคม ว่าเราต้องประดิษฐ์วัฒนธรรมให้มีความร่วมสมัย มากกว่าที่จะนำมาขึ้นหิ้งและเชิดชู มโนทัศน์ของของไทยจึงถูกจัดแบ่งแบบสองขั้วซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ยึดติดกับอุดมคติในอดีตและอนุรักษ์คุณค่าแบบสวนทางโลกปัจจุบัน กับขั้วที่ตามวัฒนธรรมและก้าวสู่โลกใหม่แบบขาดฐานความคิดร่วมสมัย ผมขอเรียกปรกฏการณ์นี้ว่า มโนทัศน์แบบคู่ตรงข้าม ซึ่งหมายถึงของเก่าเชย ของใหม่ทันสมัย ของเก่าดี ของใหม่ไม่เหมาะสม เปรียบเสมือนทางสองแพร่งที่มิอาจจะมาบันจบกันได้

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ที่มาของเครื่องสำอาง















การใช้เครื่องสำอางจัดเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีมาแต่สมัยโบราณ มีการค้นพบว่า มีการใช้เครื่องสำอางมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ จีน อินเดีย และต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวกรีกเป็นชาติแรกที่มีการแยกการแพทย์และเครื่องสำอางออกจากกิจการทางศาสนา และยังถือว่าการใช้เครื่องสำอางเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติต่อร่างกายให้ถูกต้องสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรประจำวัน






ศิลปะการใช้เครื่องสำอางและเครื่องหอมได้ถึงขีดสุดในระหว่าง 2 ศตวรรษแรกแห่งอาณาจักรโรมัน แล้วค่อยๆ เสื่อมลง และเมื่ออาณาจักรโรมันเสื่อมอำนาจลงในศตวรรษที่ 5 ศิลปะการใช้เครื่องสำอางจึงแพร่หลายเข้าสู่ทวีปยุโรป นอกจากนี้ ชาวอาหรับก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการผลิตเครื่องสำอาง โดยได้มีการดัดแปลง แก้ไขส่วนผสมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณภาพดีขึ้น เช่น การใช้กรรมวิธีการกลั่นเพื่อให้มีความบริสุทธิ์สูง การใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย เป็นต้น






เมื่อศิลปะการใช้เครื่องสำอางได้แพร่หลายเข้าสู่ในประเทศฝรั่งเศสมากขึ้น เจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศสได้พยายามเสนอให้มีการแยกกิจการด้านเครื่องสำอางไว้เฉพาะ โดยให้แยกออกจากกิจการด้านการแพทย์ เนื่องจากกิจการด้านการแพทย์และเครื่องสำอางต้องอยู่ในการควบคุมของกฎหมาย ในระหว่างปี ค.ศ. 1400 – 1500 และความพยายามก็ประสบความสำเร็จในปี ค.ศ.1600 ศิลปะการใช้เครื่องสำอางได้แยกออกมาจากกิจการด้านการแพทย์อย่างชัดเจน ต่อมาในปี ค.ศ. 1800 ได้มีการรวบรวมและแยกแยะความรู้ในด้านศิลปะการใช้เครื่องสำอางออกเป็นหลายๆ ประเภท เช่น เภสัชกร ช่างเสริมสวย นักเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งต้องใช้ความรู้ที่ได้มาจากเภสัชกรรมและครื่องสำอางมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละอาชีพ






การผลิตเครื่องสำอางในช่วงแรกๆ นั้น ยังมีกรรมวิธีการผลิตที่ไม่แน่นอน เครื่องสำอางบางประเภทมีขายในร้านขายยา การผลิตเป็นความรู้ส่วนบุคคลที่ได้รับสืบทอดมาหรือได้จากการศึกษาค้นคว้า ลองผิดลองถูก จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ได้มีผู้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตแทนวิธีเก่า และเมื่อผลิตเครื่องสำอางแต่ละชนิดจะมีเครื่องหมายการค้าชัดเจน และมีกรรมวิธีในการผลิตที่แน่นอน ทำให้เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นมีคุณภาพ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต ทำให้มีการเพิ่มการผลิต และพยายามปรับปรุงคุณภาพของเครื่องสำอางให้มีคุณภาพสูงขึ้น






ต่อมาได้มีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เข้ามาปรับปรุงคุณภาพของเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเคมี ได้มีส่วนเข้ามาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้มีคุณภาพสูง ในการผลิตแต่ละครั้งต้องมีส่วนประกอบที่คงที่ ได้ผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกัน มีหลักการเลือกใช้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐานในการผลิต และมีการตรวจสอบคุณสมบัติ ตลอดจนการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง






ในปี ค.ศ. 1895 ได้มีการเปิดสอนวิชาการเครื่องสำอาง ในเมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก ทำให้นักศึกษาได้รู้จักวิธีการใช้เครื่องสำอางชนิดต่างๆ ในการรักษาผิวหนังและเส้นผม ต่อมาการศึกษาวิชานี้ได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว






การศึกษาประวัติของเครื่องสำอาง อาจแบ่งตามยุคต่างๆ ตามประวัติศาสตร์สากลของโลก ได้ดังนี้






1. ยุคอียิปต์หรือยุคก่อนคริสตกาล






นักโบราณคดียกย่องให้ชาวอียิปต์เป็นชาติแรก ที่รู้จักคิดค้นและผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณวัตถุที่เก่าแก่ และร่องรอยในการทำพิธีกรรมทางศาสนา และการบูชาเทพเจ้าต่างๆ ในสมัยนั้น โดยได้มีการเผาเครื่องหอมหรือกำยาน และมีการใช้เครื่องเทศ สมุนไพร และน้ำมันต่างๆ สำหรับรักษาคงสภาพของศพไว้ เพราะมีความเชื่อว่า วิญญาณของคนที่ตายแล้วจะกลับมาเกิดใหม่ในร่างเดิมอีกครั้ง ในความเป็นจริงประเทศจีน น่าจะเป็นชาติแรกที่มีการผลิตเครื่องสำอางขึ้นมาใช้ แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการยืนยัน จึงถือว่าประเทศอียิปต์เป็นชาติแรกที่มีการผลิตเครื่องสำอางขึ้นมาใช้ โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐาน ดังต่อไปนี้






1.1 ที่ฝังพระศพของกษัตริย์องค์แรกในราชวงศ์เทไนท์ (Thenite) นักโบราณคดี ได้ค้นพบภาชนะที่ใช้บรรจุผงสำหรับทาเปลือกตา เรียกว่า Kohl ซึ่งทำมาจากผงเขม่าผสมกับพลวง โดยเครื่องสำอางที่พบนี้ น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 3,500 ปี ก่อน คริสตกาล






1.2 ที่ฝังพระศพของกษัตริย์องค์ที่ 18 มีการค้นพบดินสอเขียนคิ้วและขอบตา (Stibium pencil) ซึ่งทำมาจาก แอนทิโมนีซัลไฟด์ (antimony sulfide) นอกจากนี้ยังมีการค้นพบ ภาพเขียนในกระดาษพาพีรูส (papyrus) แสดงรูปผู้ชายผู้หญิงใส่เครื่องประดับผม เรียกว่า นาร์ด (Nard) บนศีรษะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวอียิปต์ในสมัยนั้น รู้จักการเสริมสวยแล้ว 1,500 ปี ก่อนคริสตกาล






1.3 ที่ฝังพระศพของกษัตริย์ทูทันคาเมน (Tutankhamen)นักโบราณคดีชื่อ ฮอเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) ได้ค้นพบเครื่องสำอางมากมายหลายชนิด รวมทั้งน้ำมันหอมชนิดต่างๆ จากกษัตริย์องค์นี้ เมื่อ 1,350 ปี ก่อนคริสตกาล





2. ยุคโรมันในยุคที่โรมันเรืองอำนาจชาวโรมันได้เข้าไปครอบครองกรีกและอียิปต์



ไปจนถึงเมืองอเล็กซานเดรีย บุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ยุคนี้คือ จูเลียส ซีซาร์ (Jullius Caesar) มาร์ค แอนโทนี (Marcus Antonius) และ พระนางคลีโอพัตราที่ 7 (Cleopatra VII) ซึ่งพระนางคลีโอพัตรา รู้จักการเสริมสวยทำให้เป็นที่ดึงดูดใจแก่ผู้พบเห็น และยังเป็นผู้คิดค้นเครื่องสำอางหลายประเภทชาวโรมันได้รับอิทธิพลจากชาวกรีกและชาวอียิปต์ จึงทำให้รู้จักศิลปะการใช้เครื่องสำอาง และการแต่งกาย



3. ยุคมืดหลังจากอาณาจักรโรมันได้เสื่อมอำนาจลง



เนื่องจากเกิดสงครามทางศาสนา ความเจริญก้าวหน้าทางเครื่องสำอางก็หยุดชะงัก แต่ในขณะเดียวกัน ในโลกตะวันออกกลับมีความเจริญก้าวหน้าของศิลปะการใช้เครื่องสำอาง นำโดยประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งได้ทำการค้าติดต่อกับประเทศทางยุโรป ผ่านทางเอเชียไมเนอร์ หรือเอเชียตะวัตกเฉียงใต้ โดยมีการซื้อขายสินค้าต่างๆ เช่น เครื่องเทศ ผ้า รวมทั้งเครื่องสำอาง



4. ยุคอิสลาม ยุคอิสลามอยู่ในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 7 – 12



หลังจากเสร็จสิ้นสงครามหลายศตวรรษ ความเจริญก็ได้เกิดขึ้นบริเวณเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือเอเชียไมเนอร์ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวอาหรับ ในยุคนี้เป็นยุคของการเกิดศาสดาของศาสนาอิสลาม คือ พระมะหะหมัด การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ทำให้สามารถรวมรวบอาณาจักรตั้งแต่ซีเรียจดประเทศอียิปต์ และยังข้ามไปทวีปแอฟริกาไปยึดครองประเทศสเปนและยุโรปบางส่วนได้ ชาวอาหรับมีข้อดีคือ เมื่อสามารถยึดครองประเทศใดได้ จะไม่เผาทำลายบ้านเมือง แต่จะนำเอาวิชาการของประเทศนั้นๆ มาใช้ ในยุคนี้มีบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการเครื่องสำอางคือ อิบน์ ซีนา (Ibn Sina) เป็นชาวเปอร์เซียที่ค้นพบวิธีการกลั่นน้ำหอมจากดอกกุหลาบ (rose water) อีกคนหนึ่งคือ อาบู มอนเซอ มูวาฟแฟส (Abu Monsur Muwaffax) เป็นเภสัชกรชาวเปอร์เซียที่ค้นพบความมีพิษของทองแดงและตะกั่วในเครื่องสำอาง และยังค้นพบว่า สามารถใช้แคลเซียมออกไซด์ (CaO) ในการกำจัดขน อีกคนที่สำคัญก็คือ อูมาร์ อิบน์ อัล-อาดิม (Umar Ibn Al-Adim) เป็นนักประวัติศาสตร์และครู ชาวซีเรีย ได้เขียนคู่มือเกี่ยวกับการทำน้ำหอมไว้มากมาย ยุคอิสลามนี้เรืองอำนาจอยู่ 300 ปี ก็เสื่อมอำนาจลงเนื่องจากแพ้สงครามแก่ชาวคริสเตียนในประเทศสเปนและหมู่เกาะซิซิลี





5. ยุคยุโรปเริ่มเฟื่องฟูยุคยุโรปเริ่มเฟื่องฟูนี้ อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษ



ที่ 9 –10 โดยเริ่มแรกความเจริญรุ่งเรืองจะอยู่บริเวณยุโรปตอนใต้ แถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน แต่หลังจากที่มีการเผลแพร่ศาสนาคริสต์เข้าสู่ประเทศในยุโรป ก็ได้มีการเผยแพร่อารยธรรมและวัฒนธรรมเข้าไปด้วย โดยถือว่ากรุงโรมเป็นศูนย์กลางที่ได้รับการเผยแพร่อารยธรรมและวัฒนธรรม



6. ยุคยุโรปก้าวหน้ายุคยุโรปก้าวหน้า ถือเป็นยุคทองของยุโรป อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 – 16



เป็นยุคที่ชาวยุโรปเริ่มมีการแสวงหาความรู้ทุกสาขาวิชา ได้มีการเปิดสถานที่ในการสอนวิทยาการทางการแพทย์และเภสัชกรรม โดยตั้งโรงเรียนที่เมืองซาลาโน (Salarno) และเปิดมหาวิทยาลัย ที่เมืองเนเปิลส์ (University of Naples) และมหาวิทยาลัยแห่งโบโลญา (University of Bologna) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการรักษาโดยการทำศัลยกรรมเป็นแห่งแรก และมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางในยุคนี้ เป็นยุคที่ชาวยุโรป มีความรู้ในการผลิตน้ำหอมจากพืชและสัตว์บางชนิด และสามารถทำรูจ (rouge) สำหรับทาแก้มจากดินสีแดงที่เรียกว่า ซินนาบาร์ (cinnabar) ซึ่งมีไอร์ออน ออกไซด์ เป็นองค์ประกอบ นอกจากนี้ ยังสามารถทำแป้งทาหน้าจาก เลดคาร์บอเนต และรู้จักการทำน้ำมันแต่งผมจากน้ำมันพืชและน้ำมันดินจากธรรมชาติ



วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

เปิดตำนาน(ชื่อ)เมืองพิสดารแดนอินทรี





เมื่อจุดหมายปลายทางอยู่ที่พาราไดซ์ (สรวงสวรรค์) ชาวอเมริกันบางคนเลือกใช้เส้นทางที่ต้องผ่านอินเตอร์คอร์ส (การร่วมประเวณี) ก่อน ที่เทกซัส คู่รักจูงมือทำพิธีในเลิฟวิง (การแสดงความรัก) จากนั้นจึงไปยังลูนีวิลล์ (เมืองคนบ้า) เอิร์ท (โลก) อยู่ในเทกซัสเช่นกัน ห่างจากมาร์ส (ดาวอังคาร) และวีนัส (ดาวศุกร์) ซึ่งตั้งอยู่ในเพนซิลเวเนีย ประมาณ 2,400 กิโลเมตร และชาวไรซิ่งซัน (ใกล้รุ่ง) ในแมรี่แลนด์ อาจสืบเชื้อสายใกล้ชิดกับชาวฮอตคอฟฟี่ (กาแฟร้อน) ในมิสซิสซิปปี้ รวมถึงชาวโทสต์ (ขนมปังปิ้ง) ในนอร์ทแคโรไลนา และชาวเอ๊ก (ไข่) ในฟลอริดา สหรัฐฯ นั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่รวมไว้ซึ่งชื่อเมืองแปลกๆ มากมาย บางชื่อมีความหมายไปคนละทิศละทางกับชื่อเดิม ที่นิวเม็กซิโก ชาวเมืองฮอตสปริงส์ลงมติในปี 1950 เพื่อเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นทรูท ออร์ คอนซีเควนซ์ (ความจริงหรือสิ่งที่ตามมา) ตามชื่อเกมโชว์ยอดนิยมในยุคนั้น






อินเตอร์คอร์ส ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางชุมชนของชาวเอมิชที่เคร่งศาสนา เคยชื่อว่าครอสส์คียส์ (กุญแจไขว้) ตามชื่อโรงแรมดังตอนที่ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดยไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุที่แน่นอนของการเปลี่ยนชื่อ ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของเมืองว่าไว้ว่า ชื่อนี้อาจได้มาจากสนามแข่งม้าที่เป็นศูนย์รวมของชาวเมืองในอดีตที่ชื่อว่า เอนเตอร์คอร์ส และเรียกไปเรียกมาเลยเพี้ยนเป็นอินเตอร์คอร์ส อีกทฤษฎีหนึ่งที่ระบุอยู่ในเว็บไซต์บอกว่า อินเตอร์คอร์สเป็นคำฮิตติดปากในทศวรรษ 1800 เพื่ออธิบายถึงสัมพันธภาพและปฏิกิริยาทางสังคม และความมีศรัทธาร่วมกันของชุมชน เมืองที่มีทัศนียภาพงดงามแห่งนี้ยังรู้จักหาประโยชน์จากชื่อของตัวเอง ด้วยการทำทีเชิ้ตออกมาขายโดยสกรีนง่ายๆ ว่า ‘ไอ เลิฟ อินเตอร์คอร์ส’ ขณะที่เมืองบอริ่ง (น่าเบื่อ) ในโอเรกอน อวดอ้างตัวว่าเป็น ‘สถานที่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการอยู่อาศัย’ เมืองคริสต์มาสในฟลอริดาขายดีในช่วงเทศกาลแห่งความสุขปลายปี โดยเฉพาะที่ที่ทำการไปรษณีย์ เพราะจะมีผู้คนจากเมืองใกล้เคียงทะยอยเดินทางมาส่งการ์ดคริสต์มาสเพื่อให้ได้ประทับตราไปรษณีย์ของเมืองนี้ เช่นเดียวกับเมืองซานตาคลอส อินเดียนา ที่โฆษณาตัวเองว่าเป็นเมืองเดียวในโลกที่มีที่ทำการไปรษณีย์ใช้ชื่อคุณลุงเคราขาวผู้นำของขวัญไปมอบให้เด็กทั่วโลกในวันคริสต์มาส และนั่นหมายความว่า ที่ทำการไปรษณีย์ของเมืองนี้ได้รับจดหมายราวครึ่งล้านที่จ่าหน้าซองถึงซานตาใจดีทุกเทศกาลคริสต์มาส “ที่ทำการไปรษณีย์ของเราอาจเป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองนี้ และมีเรื่องราวมากมายกว่าที่เราจะได้ชื่อนี้มา






“เรื่องมีอยู่ว่าเมืองของเราก่อตั้งขึ้นโดยชาวเยอรมันอพยพในช่วงทศวรรษ 1950 และขณะที่เมืองเล็กๆ เริ่มเติบโต ชาวเมืองจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีที่ทำการไปรษณีย์ของตัวเอง จึงทำเรื่องขออนุญาตไปยังรัฐบาลกลาง “คำร้องแรกเราขอใช้ชื่อเมืองว่าซานตาเฟ แต่ติดที่ว่ามีเมืองอื่นในอินเดียนาที่ใช้ชื่อนี้อยู่แล้ว คำขอจึงตกไป เราจึงเรียกประชุมชาวเมืองในวันคริสต์มาสอีฟในโบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีเตาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ทุกคนนั่งล้อมเตาหารือว่าจะใช้ชื่อเมืองว่าอย่างไรดี “ระหว่างนั้น มีเด็กผู้หญิงเล็กๆ คนหนึ่งวิ่งเข้ามา และเสียงกระดิ่งจากข้างนอกดังกรุ๋งกริ๋งขึ้นมาพอดี หนูน้อยร้องว่า ‘ซานตาคลอส!’” เมลิสสา มิลเลอร์ ประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวของเมืองซานตาคลอส เล่าต่อว่าชาวเมืองก็เลยปิ๊งชื่อนี้ทันที และทางการก็อนุมัติให้อย่างราบรื่น แต่ปัญหาหนึ่งที่ตามมาสำหรับเมืองชื่อประหลาดก็คือ ชาวบ้านชอบขโมยป้ายสัญญาณจราจรที่มีชื่อเมืองติดอยู่ สำหรับอินเตอร์คอร์สนั้นถูกขโมยป้ายไปหลายครั้งแล้ว บางคนเดากันขำๆ ว่าคนที่ลักไปน่าจะนำไปตอกติดไว้ที่หัวเตียง