เมื่อจุดหมายปลายทางอยู่ที่พาราไดซ์ (สรวงสวรรค์) ชาวอเมริกันบางคนเลือกใช้เส้นทางที่ต้องผ่านอินเตอร์คอร์ส (การร่วมประเวณี) ก่อน ที่เทกซัส คู่รักจูงมือทำพิธีในเลิฟวิง (การแสดงความรัก) จากนั้นจึงไปยังลูนีวิลล์ (เมืองคนบ้า) เอิร์ท (โลก) อยู่ในเทกซัสเช่นกัน ห่างจากมาร์ส (ดาวอังคาร) และวีนัส (ดาวศุกร์) ซึ่งตั้งอยู่ในเพนซิลเวเนีย ประมาณ 2,400 กิโลเมตร และชาวไรซิ่งซัน (ใกล้รุ่ง) ในแมรี่แลนด์ อาจสืบเชื้อสายใกล้ชิดกับชาวฮอตคอฟฟี่ (กาแฟร้อน) ในมิสซิสซิปปี้ รวมถึงชาวโทสต์ (ขนมปังปิ้ง) ในนอร์ทแคโรไลนา และชาวเอ๊ก (ไข่) ในฟลอริดา สหรัฐฯ นั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่รวมไว้ซึ่งชื่อเมืองแปลกๆ มากมาย บางชื่อมีความหมายไปคนละทิศละทางกับชื่อเดิม ที่นิวเม็กซิโก ชาวเมืองฮอตสปริงส์ลงมติในปี 1950 เพื่อเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นทรูท ออร์ คอนซีเควนซ์ (ความจริงหรือสิ่งที่ตามมา) ตามชื่อเกมโชว์ยอดนิยมในยุคนั้น
อินเตอร์คอร์ส ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางชุมชนของชาวเอมิชที่เคร่งศาสนา เคยชื่อว่าครอสส์คียส์ (กุญแจไขว้) ตามชื่อโรงแรมดังตอนที่ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดยไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุที่แน่นอนของการเปลี่ยนชื่อ ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของเมืองว่าไว้ว่า ชื่อนี้อาจได้มาจากสนามแข่งม้าที่เป็นศูนย์รวมของชาวเมืองในอดีตที่ชื่อว่า เอนเตอร์คอร์ส และเรียกไปเรียกมาเลยเพี้ยนเป็นอินเตอร์คอร์ส อีกทฤษฎีหนึ่งที่ระบุอยู่ในเว็บไซต์บอกว่า อินเตอร์คอร์สเป็นคำฮิตติดปากในทศวรรษ 1800 เพื่ออธิบายถึงสัมพันธภาพและปฏิกิริยาทางสังคม และความมีศรัทธาร่วมกันของชุมชน เมืองที่มีทัศนียภาพงดงามแห่งนี้ยังรู้จักหาประโยชน์จากชื่อของตัวเอง ด้วยการทำทีเชิ้ตออกมาขายโดยสกรีนง่ายๆ ว่า ‘ไอ เลิฟ อินเตอร์คอร์ส’ ขณะที่เมืองบอริ่ง (น่าเบื่อ) ในโอเรกอน อวดอ้างตัวว่าเป็น ‘สถานที่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการอยู่อาศัย’ เมืองคริสต์มาสในฟลอริดาขายดีในช่วงเทศกาลแห่งความสุขปลายปี โดยเฉพาะที่ที่ทำการไปรษณีย์ เพราะจะมีผู้คนจากเมืองใกล้เคียงทะยอยเดินทางมาส่งการ์ดคริสต์มาสเพื่อให้ได้ประทับตราไปรษณีย์ของเมืองนี้ เช่นเดียวกับเมืองซานตาคลอส อินเดียนา ที่โฆษณาตัวเองว่าเป็นเมืองเดียวในโลกที่มีที่ทำการไปรษณีย์ใช้ชื่อคุณลุงเคราขาวผู้นำของขวัญไปมอบให้เด็กทั่วโลกในวันคริสต์มาส และนั่นหมายความว่า ที่ทำการไปรษณีย์ของเมืองนี้ได้รับจดหมายราวครึ่งล้านที่จ่าหน้าซองถึงซานตาใจดีทุกเทศกาลคริสต์มาส “ที่ทำการไปรษณีย์ของเราอาจเป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองนี้ และมีเรื่องราวมากมายกว่าที่เราจะได้ชื่อนี้มา
“เรื่องมีอยู่ว่าเมืองของเราก่อตั้งขึ้นโดยชาวเยอรมันอพยพในช่วงทศวรรษ 1950 และขณะที่เมืองเล็กๆ เริ่มเติบโต ชาวเมืองจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีที่ทำการไปรษณีย์ของตัวเอง จึงทำเรื่องขออนุญาตไปยังรัฐบาลกลาง “คำร้องแรกเราขอใช้ชื่อเมืองว่าซานตาเฟ แต่ติดที่ว่ามีเมืองอื่นในอินเดียนาที่ใช้ชื่อนี้อยู่แล้ว คำขอจึงตกไป เราจึงเรียกประชุมชาวเมืองในวันคริสต์มาสอีฟในโบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีเตาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ทุกคนนั่งล้อมเตาหารือว่าจะใช้ชื่อเมืองว่าอย่างไรดี “ระหว่างนั้น มีเด็กผู้หญิงเล็กๆ คนหนึ่งวิ่งเข้ามา และเสียงกระดิ่งจากข้างนอกดังกรุ๋งกริ๋งขึ้นมาพอดี หนูน้อยร้องว่า ‘ซานตาคลอส!’” เมลิสสา มิลเลอร์ ประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวของเมืองซานตาคลอส เล่าต่อว่าชาวเมืองก็เลยปิ๊งชื่อนี้ทันที และทางการก็อนุมัติให้อย่างราบรื่น แต่ปัญหาหนึ่งที่ตามมาสำหรับเมืองชื่อประหลาดก็คือ ชาวบ้านชอบขโมยป้ายสัญญาณจราจรที่มีชื่อเมืองติดอยู่ สำหรับอินเตอร์คอร์สนั้นถูกขโมยป้ายไปหลายครั้งแล้ว บางคนเดากันขำๆ ว่าคนที่ลักไปน่าจะนำไปตอกติดไว้ที่หัวเตียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น