วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่านิยมเกาหลีในปัจจุบัน










ปัจจุบันนี้ใครต่อใครต่างรู้จัก “เกาหลี” ในหลากหลายมิติ จนก่อเกิดกระแส “เกาหลีฟีเวอร์”[1] ในปริมณฑลประเทศอื่นๆ กลายเป็นสายธารแห่งคลื่นทางวัฒนธรรมใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ จนได้รับขนานนามว่า “เอเชียภิวัฒน์” นอกเหนือจากวัฒนธรรม “ญี่ปุ่น” และ “จีน” ซึ่งได้แพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมในลักษณะกลิ่นไอความเป็นตะวันออกที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างออกไป วัฒนธรรมเกาหลีมิได้หมายถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่ถูกแช่แข็งทางวัฒนธรรม แต่หมายถึงโลกปัจปัจจุบันที่ประดิษฐ์วัฒนธรรม “ใหม่” ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน และยังมีสูตรแห่งการผสมผสานระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมได้เริ่มก่อตัวและเติบโตขึ้นซึ่งส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก[2] ด้วยเหตุดังกล่าว ผมในฐานะนักเรียนด้านสังคมวิทยาที่ให้ความสนใจการเปลี่ยนรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ของประเทศเกาหลี โดยให้ความสนใจถึงกระบวนการสร้างในเชิง “หน้าที่นิยม” และการตอบสนองกับสังคมที่แปรเปลี่ยนตามบริบท







มองเกาหลีในอดีต ผ่านผลงานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาพสะท้อนแห่งวัฒนธรรมเก่า สู่การนิยามใหม่ผ่านละครซีรี่ส์



เกาหลีมีประวัติศาสตร์มายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากจีนและผสมผสานกับวัฒนธรรมของตนเอง หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญคือเครื่องใช้สำริดที่มีความคล้ายคลึงกับจีนมากจนมาถึงในยุคเล่อลั่งซึ่งได้รับต้นแบบงานศิลปกรรมจากราชวงศ์ฮั่น แต่ในขณะเดียวกันเกาหลีก็ยังพัฒนาเครื่องใช้ อาทิ อศิราภรณ์มงกุฏ และชุดเครื่องทองรวมไปถึงยุทโธปกรณ์ในแบบ ต่างๆ ตามแบบ”เกาหลี” โดยสร้างลวดลายที่ปราณีตเชื่อมโยงกับระบบความเชื่อวัฒนธรรมและรสนิยมท้องถิ่นได้อย่างลงตัว ตรงจุดนี้ทำให้งานศิลปกรรมเกาหลีเกิดความแตกต่างไปจากวัฒนธรรมจีนและเป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ใหม่ ผ่านงานหัตศิลป์ ปราณีตศิลป์ ซึ่งจะโดดเด่นมากในยุคสามอาณาจักรอย่าง เพจเจ ซิลลา โกกุเรียว และอาณาจักรคายา(เป็นชนเผ่าทั้งหกที่รวมตัวกันและถูกกลืนกับอาณาจักรซิลลา) ซึ่งได้ถ่ายทอดผ่านซีรี่ส์ละครในเรื่อง “จูมง” ที่อธิบายเรื่องราวและรายละเอียดได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งการเปลี่ยนผ่านในการรวมอาณาจักรซิลลาและแคว้นอื่นๆผนวกเข้าด้วยกันขับไล่จีนในราชวงศ์สุยที่พยายามจะมามีอิทธิลในคาบสมุทรเกาหลี ยึดโยงความเป็นชาติพันธุ์อย่างแนบแน่นและสร้างความเป็นปึกแผ่นผ่านบูรณภาพทางการเมือง ภาพสะท้อนในซีรี่ส์เรื่องจูมงทำให้เห็นถึงความพยายามที่จะพัฒนาตนเองและปรับตัวเพื่อการธำรงชาติพันธ์ให้อยู่รอดและสร้างความเป็น “เกาหลี” ในแบบฉบับของตนเอง



พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในเกาหลีได้เปลี่ยนโครงสร้างทางวัฒนธรรมใหม่อยู่ตลอดทุกยุคทุกสมัยโดยสะท้อนการดัดแปลง ลัทธิขงจื่อในจีน สู่ความเป็น “ขงจื่อใหม่” ในเกาหลีผ่านระบบการปกครองในสมัยโชซอน และยังไม่ละทิ้งความเป็นเกาหลีที่นับถือภูติผีและวิณญาณตามระบบความเชื่อดั้งเดิม ในราชวงศ์โชซอนนั้นยังได้ปลูกฝังความรักชาติด้วยสติปัญญาของชนพื้นเมืองโดยการสร้างประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงกับปกรณัม ของ “ตันกุ๋น วัง ก็ออม”[3] และผลงานที่สำคัญของยุคโซซอนคือการประดิษฐ์อักษรเกาหลีในสมัยพระจ้าเซจองที่เรียกว่า “ฮังกึล”ซึ่งยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน







ซีรี่ส์เกาหลีในมิติใหม่ “ผสมผสาน” “ ดัดแปลง” และ “นิยามใหม่” ตามไสตล์ เกาหลี


ภาพละครในซีรีส์เกาหลี ได้หยิบยก ความเป็นสังคมเมือง ในโซล เป็นหลัก ที่ได้เปลี่ยนผ่านตนเองสู่ความเป็นสังคมวัฒนธรรมใหม่( modern society) ในหลายๆฉากสะท้อนถึงความวุ่นวายของการจราจร เมืองธุรกิจและการค้า ปฎิสัมพันธ์ของคนเมือง การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ แฟชั่น การกินอาหาร และการทำงานหนัก แต่ก็ไม่ละเลยที่จะทิ้งภาพต่างจังหวัด ความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นเพของบางตัวละครที่ต้องมาปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ตนเองในปริมณฑลเมือง แต่ก็มีการโหยหาอดีต และมีระเบียบวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย ซึ่งปรากฏให้เห็นใน หลายๆเรื่อง ได้นำฉากโดยนำเสนอภาพอดีตของเกาหลีในอาณาจักรโชชอนโดยการย้อนอดีตชาติมาเสริมสร้างในเนื้อหาของ เรื่อง สะท้อนแบบแผนการปกครองในสมัยโชซอน ซึ่งมาประกอบสร้างในลักษณะที่ขบขันแต่กลับได้สาระที่ถูกผสมอยู่ในเนื้อหาที่นำเสนออีกด้วย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของปรากฏภาพวัฒนธรรมในอดีตที่นำมาเสนอในเรื่องราวปัจจุบัน อาทิ การไปท่องเที่ยวในพระราชวังโบราณ เห็นภาพจำลองของขุนนางในราชสำนัก รวมถึงนางกำนัล (ซัมกุง) การแต่งกาย ขนบประเพณีโบราณ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต เข้าไปใส่ในละครได้อย่างชาญฉลาด นั่นก็คือ เอาเรื่อง “โบราณ” มาประกอบในฉากในยุคสมัยใหม่ มีความกลมกลืนและยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณะชน



วัฒนธรรม “ใหม่” ในไสตล์ เกาหลี กับความเป็นเมือง ที่มุ่งเน้นถึง สังคมแห่งการทำงานในยุคทุนนิยม การแข่งขันกันในอาชีพ ความชิงไหวชิงพริบในทางธุรกิจ และการเสพเทคโนโลยีและแฟชั่นแบบวัฒนธรรม บริโภคนิยม ซึ่งการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกาหลีสร้างขึ้นเอง และยังสร้างแฟชั่นเกาหลี[4]ที่มีลักษณะเฉพาะตัวและเขยิบพื้นที่ให้มีความเป็นสากลในรูปลักษณ์ใหม่ผ่านเครื่องแต่งกายของตัวละครทั้งในเพศหญิง และชาย เอกลักษณ์ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งในละครซีรี่ส์เกาหลีก็คือ “การนัดเดท” เป็นการนัดดูตัวและพบปะกันเพื่อสานสัมพันธ์สู่การเป็นคู่ครองในอนาคตยิ่งสะท้อนสังคมเกาหลีสมัยใหม่ที่ทำงานจนไม่มีเวลาพบปะผู้คน



ตัวละครเกาหลีให้ความสำคัญกับการทำงานซึ่งเป็นหลักที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อ จนเป็นค่านิยมที่สำคัญในสังคม ในขณะที่ละครไทยมักจะไม่เน้นสิ่งเหล่านี้มากนัก แต่กลับอาศัยการได้งานมาที่เรียกว่า “ส้มหล่น” หรือ ตัวละครไม่ต้องทำงานเพราะไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องนอกเหนือจากการลอยชายไปมา แต่เกาหลีจะต้องต่อสู่กับงานมากมายกว่าจะเป็นที่ยอมรับในสังคม ต้องใช้ความขยันและเวลาพิสูจน์เพื่อพิสูจน์ตนเอง



แม้ว่าละครเกาหลีมักจะมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรม “บริโภคนิยม” แต่ผมกลับมองว่าในประเด็นนี้กับมีความน่าสนใจคือ กระบวนการดังกล่าวไม่ได้ถูกอิทธิพลทางตะวันตกครอบงำ แต่กลับสร้างลักษณะใหม่ที่ผู้คนสามารถจำแนกได้ว่าแตกต่างกับตะวันตก และมีเอกลักษณ์ของความเป็นเกาหลี หากจะกล่าวถึงการแต่งกายแบบตะวันตกเราคงมองถึงการกางเกงส์ยีน เสื้อสบายๆ หรือสูตร แต่ความเป็นเกาหลีเน้นการใส่สูตรที่มีลักษณะกึ่งทางการ แตกต่างกับสูตรแบบตะวันตก ผู้หญิงแต่งกายในลักษณะกึ่งลำลอง กึ่งทางการ หรือหรูหรา แล้วแต่โอกาส แสดงถึงการให้ความสำคัญกับกาละเทศะของการใช้การแต่งกายเพื่อแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพื้นที่ต่างๆ สิ่งนี้ผมขอเรียกว่า กระบวนการสร้าง “รสนิยมการแต่งกาย”แบบเกาหลี และพี่ไทยยังเอามาลอกเลียนแบบไม่อายด้วยครับ แสดงว่าพี่ไทยยังคิดว่า “ดูดี” มีความเป็นสากล จนต้องทำตาม



วิถีชีวิตในกรุง โซล อาจดูมีความเป็นตะวันตก และมีความเป็นเมืองสูง ได้ถูกเปลี่ยนแปลงตามแบบอย่างสังคมสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็น เกาหลีแบบเก่า ที่นำมาผสมผสานได้อย่างลงตัว แม่ว่าจะเป็นมุมเล็กๆอย่างวิถีวัฒนธรรมการกินของตัวละครซึ่งนิยมเข้าร้านอาหารต่างชาติ แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นความเป็นเกาหลี เพราะยังชอบรับประทานกิมจิ ซุป หรือร้านนั่งดื่มไสตล์เกาหลี อยู่นั่นเองและดัดแปลงรสชาติอาหารต่างประเทศให้ตรงกับรสชาติให้ถูกปากกับคนเกาหลี ตรงจุดนี้เป็นการสร้างอุดมการณ์ความรักชาติที่สะท้อนผ่านซีรีส์ได้เป็นอย่างดี หากตัวละครไทยยังชอบรับประทานแกงเขียวหวานหรือต้มยำกุ้งที่สั่งในเมนูร้านอาหารก็คงจะดีไม่น้อย







เนื้อหาของละครไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีแล้วยังขาดความร่วมสมัยที่จะนำวัฒนธรรมมาผสานกัน และแบ่งแยกอย่างชัดเจน เช่นละครย้อนยุคก็จะเน้นความเก่าแก่ โบราณ ละครยุคสมัยใหม่ก็เต็มไปด้วยการครอบงำแบบ เก่า ที่นิยมความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้ผู้ชายมากดขี่ผู้หญิง ผ่านการข่มขืน ปล้ำ จูบ และนำมาสู่ความรัก ในขณะเดียวกันสังคมเกาหลีกลับใช้ความสวย ฉลาด บุคลิกในแบบเน้นความเป็นตนเองมาเป็นอำนาจดึงดูดผู้ชายให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจได้ ถึงแม้ว่า ผู้ชายเหล่านั้นจะสมบูรณ์แบบเพียงใด ก็ต้องเปลี่ยนใจมารักนางเอก เสน่ห์หนึ่งของตัวละครเกาหลีเน้นความสัมพันธ์แบบจุลภาค ให้ความสัมพันธ์กับตัวละครไม่กี่คน ทำให้เชื่อมโยงง่ายและเป็นเอกภาพ ผมคิดว่าวิธีนี้น่าจะทำให้เราเห็นรูปแบบวิถีชีวิตบบเกาหลี ผ่านตัวละครได้ลึกและชัดเจนขึ้น ซึ่งแตกต่างกับไทยที่ให้ความสัมพันธ์กับตัว ระดับมหภาค ความสัมพันธ์จึงดูคลุมเครือขาดการเชื่อมโยงสัมพันธ์ของตัวละครแบบชัดเจนจนดูแล้วไม่สามารถเข้าใจแบบตรรกะได้เพราะเนื้อหา ขาดเอกภาพ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นเหตุและปัจจัยของตัวละครได้อย่างเต็มที่



เคยมีคนสงสัยและถามผมว่า ทำไมละครเกาหลีถึงเน้นความสัมพันธ์แบบสี่คน? และมีความเกี่ยวพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ผมคิดว่าสิ่งที่ผมโยงน่าจะเป็นคำตอบได้ดี ผมคิดว่าคงเป็นเพราะการสร้างไสตล์ของตัวละครแบบนี้ทำให้คนทั่วไปทราบว่านี่คือ “ซีรี่ส์เกาหลี” นั่นเอง ที่สำคัญยังสามรถผลิตอุดมการณ์ทางความคิด แบบเข้าใจได้ง่ายซึมซับได้เร็วและสะเทือนอารมณ์อย่างถึงที่สุด



ละครเกาหลียังแฝงไปด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม เต็มไปด้วยการต่อสู้ ความเป็นปึกแผ่นและการธำรงรักษาประเทศผ่านละครย้อนยุค และยังสอนถึงค่านิยมแบบ ยึดหลักคุณธรรม ความพยายามซึ่งนำมาสู่ความสำเร็จ แม้แต่ละครในแบบสมัยใหม่ก็ยังนำเสนอเรื่องราวที่เน้นย้ำตรงจุดนี้ ทั้งการต่อสู้ในด้านการเรียน(กฏหมายรักฉบับฮ่ร์วาด) การต่อสู่กับแรงกดดันเพื่อเป็นที่ยอมรับในสังคม(ลุ๊กกี้ น้องใหม่เบอร์หนึ่ง หรืออินวินซิเบิ้ล) การต่อสู้เพื่อความรัก(หลายๆเรื่อง) และการเสียสละ เพื่อชาติบ้านเมือง(จูมง)เป็นหลัก ทำให้ผมไม่แปลกใจเลยว่า คนเกาหลีมีความเป็นชาตินิยมสูง





หากจะลองมองวัฒนธรรมเกาหลีเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมไทยแล้วผมคิดว่า บ้านเราพยายามจะแช่แข็งวัฒนธรรมในอดีตให้อยู่ในปัจจุบัน เลยลืมมองไปว่า วัฒนธรรมแบบ “ล้าสมัย” ใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่? ในยุคปัจจุบัน ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมเองย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และปรับตัวเพื่อตอบสนองสังคม การที่เราพยายามที่จะสร้างความเป็นไทย หรืออุดมการณ์แบบอนุรักษ์อดีต ต้องมองถึงความเป็นจริงทางสังคม ว่าเราต้องประดิษฐ์วัฒนธรรมให้มีความร่วมสมัย มากกว่าที่จะนำมาขึ้นหิ้งและเชิดชู มโนทัศน์ของของไทยจึงถูกจัดแบ่งแบบสองขั้วซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ยึดติดกับอุดมคติในอดีตและอนุรักษ์คุณค่าแบบสวนทางโลกปัจจุบัน กับขั้วที่ตามวัฒนธรรมและก้าวสู่โลกใหม่แบบขาดฐานความคิดร่วมสมัย ผมขอเรียกปรกฏการณ์นี้ว่า มโนทัศน์แบบคู่ตรงข้าม ซึ่งหมายถึงของเก่าเชย ของใหม่ทันสมัย ของเก่าดี ของใหม่ไม่เหมาะสม เปรียบเสมือนทางสองแพร่งที่มิอาจจะมาบันจบกันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น